โรคสำคัญที่ควรรู้ของนกตระกูลนกแก้วและการรักษา พอดีไปเจอมาครับเลยเอามาฝาก

เริ่มโดย น้องปอง, กุมภาพันธ์ 16, 2010, 01:31:11 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

น้องปอง

การป้องกันและการรักษาโรค

นกก็เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บเหมือนกัน ถ้าขาดการสังเกต การเอาใจใส่ ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควรทั้งเมื่อเริ่มมีการเจ็บป่วยก็แก้ไขได้ยาก นกเป็นสัตว์ปีกทีมีขนาดตัวเล็กนิดเดียว ฉีดยาก็อันตราย กินยาก็ยาก จับก็ตื่น ถ้าป่วยมากแล้วมักช่วยเหลือไม่ทัน เข้าทำนองเลี้ยงที่ไรตายหมดทุกที ในที่สุดเกิดความเบื่อหน่ายจะเลี้ยงนก ซึ่งความจริงไม่ใช่ความบกพร่องของนกแต่เป็นความบกพร่องของผู้เลี้ยงเอง

ในการป้องกันโรคให้นกนั้นข้อแนะนำกว้างๆ สำหรับผู้เลี้ยงนกคือ พยายามปฏิบัติการเลี้ยงดูให้ดี แท้จริงแล้วหากนกได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีพอสมควรทั้งในเรื่องน้ำ อาหาร และความสะอาดของพื้นกรง นกก็จะอยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน การใช้เวลาว่างเพียงวันละ 3 – 4 นาที เพื่อตรวจสุขภาพและส่วนประกอบอย่างอื่น เช่น พื้นกรงหรือที่ใส่อาหาร ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากหรือสิ้นเปลืองเวลาอะไรมากนัก จะทำให้นกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยให้นกไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เป็นการป้องกันโรคขั้นพื้นฐานทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงนกมิใช่เป็นของง่ายนัก ทั้งนี้เพราะเราเอามันมาเลี้ยงในกรงซึ่งผิดธรรมชาติที่แท้จริงของนกเป็นอันมาก ฉะนั้น แม้เราจะรอบคอบและถือหลักภาษิตว่า
"ป้องกันดีกว่าแก้"เสมอก็จริง แต่นกที่เราเลี้ยงด้วยประการฉะนี้เราควรรู้เรื่องการป้องกันและรักษาโรคนกที่เราเลี้ยงไว้บ้างพอสมควร อย่าปฏิบัติตามมติที่ว่า "ตายก็ฝังยังก็เลี้ยง" เลย

เมื่อปรากฏว่านกมีอาการคอตก เซื่องซึม ยืนโงนเงนไปมา ไม่ร่าเริง กระโดดโลดเต้นเหมือนตัวอื่นๆ ขนนกไม่เรียบ หรือท้องร่วง หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เมื่อผู้เลี้ยงได้เห็นอากัปกิริยาเช่นนี้ต้องเรียบแก้ไขให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป

วิธีการแก้ไขนกป่วยนี้ทำได้โดยผู้เลี้ยงรีบแยกนกที่ป่วยนี้นออกมาต่างหาก แยกออกมาเพียงลำพังในกรงพยาบาล อย่าให้ลมโกรกหรือร้อนอบอ้าวหรือเย็นชื้นจนเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับนกป่วยควรอยู่ในระหว่าง 23 – 30 องศาเซลเซียส และควรคงที่ เพราะอหุณหภูมิระดับนี้จะทำให้นกรู้สึกกระหายน้ำและต้องการน้ำมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะให้นกกินยาได้ ผู้เลี้ยงต้องเอายาแอนตี้ไบโอติคที่รักษาโรคนั้นๆ มาผสมละลายกับน้ำโดยปริมาณที่เหมาะสม

โดยเรื่องนี้ผู้เลี้ยงต้องสอบถามจากร้านจำหน่ายยา หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องยา ป้องกันการแพ้ยาอันจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันนี้วิวัฒนาการเกี่ยวกับยารักษาโรคนกได้ก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก มียาประเภทปฏิชีวนะ ยาประเภทซัลฟา และยาประเภทพิวราโซลิโดน สำหรับใช้รักษาโรคของนกได้อย่างกว่างขวางและได้ผลดีน่าพอใจ ถ้าเข้าใจใช้หรือใช้ให้ตรงกับโรคนั้นๆ และหลังจากที่ได้ให้ยาแก่นกแล้ว ปล่อยให้นกได้อยู่ในกรงเพียงตัวเดียว อย่าพึ่งนำนกที่ป่วยไปรวมเข้ากลุ่ม เพราะจะทำให้เป็นโรคติดต่อถึงกันได้

เมื่อได้แก้ไขนกป่วยเรียบร้อยแล้ว ผู้เลี้ยงจะต้องคิดทบทวนหาสาเหตุที่นกป่วย เช่น อาจเป็นเพราะคอนเกาะไม่สะอาด มีเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อพวกพาราสิตมาเกาะอยู่ได้ ทางที่ดีควรเปลี่ยนคอนอาทิตย์ละอัน หรือถ้าเป็นช่วงผสมพันธุ์ควรจะเปลี่ยน 2 อันต่ออาทิตย์ หรืออาจจะเป็นเพราะอาหาร น้ำ ตลอดจนกรงไม่สะอาดก็เป็นได้ วิธีแก้ไขทำได้โดยใช้ยาฆ่าเชื้อฉีดบริเวณพื้นกรงหรือบริเวณตามที่สงสัยว่าจะมีชื้อโรคซุกซ่อนอยู่ แต่ก่อนที่จะฉีดยาฆ่าเชื้อให้ย้ายนกออกจากกรงก่อน หลังฉีดยาฆ่าเชื้อโรคแล้วทิ้งไว้นานจนแน่ใจว่ายานั้นหมดฤทธิ์แล้วจึงนำนกเข้ากรงดังเดิม

สำหรับโรคพยาธิต่างๆ มีอยู่หลายชนิด ในโรคระบาดติดต่อร้ายแรงบางโรคซึ่งรักษาไม่ได้ เช่น โรคฝีดาษ โรคหลอดลมอักเสบ ก็พอมีวัคซีนป้องกันโรค โดยควรติดต่อกับสัตวแพทย์ให้เป็นผู้แนะนำหรือจัดทำให้ จะได้รับผลดีและปลอดภัยกว่า ส่วนการป้องกันโรคบางโรค เช่น โรคท้องร่วง ท้องเสีย โรคหวัด โรคขนร่วง โรคพยาธิต่าง ๆ การให้กินยานั้นพอมีทางทำได้เหมือนกัน เพราะมียาดี ๆ  หลายขนานด้วย หากแต่ผู้ใช้จะต้องระมัดระวังขนาดของยาที่ให้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด







* Chlamydiosis
   Chlamydiosis หรือ Psittacosis หรือ Ornithosis หรือ Parrot Fever หรือไข้นกแก้ว เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในตระกูลนกแก้ว (Psittacine) และนกพิราบ (Columbinidae) สามารถติดต่อถึงมนุษย์ได้เช่นกัน

   สาเหตุ :
   เกิดจากเชื้อ Chlamydia หรือ Chlamydia psittaci ที่ถูกขับออกมากับน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของนกป่วย ซึ่งสามารถปลิวเป็นละอองเล็ก ๆ เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของนกตัวอื่นหรือปะปนกับน้ำและอาหารที่กินเข้าไป ทำให้เกิดการแพร่ระบาดและติดเชื้อนี้

   อาการ :
1.   ซึม ไม่กินอาหาร
2.   น้ำหนักลด ผอมอกแหลม ขนยุ่งเหยิงสกปรก
3.   ท้องร่วง ปัสสาวะที่ปนออกมาเป็นสีเขียวมรกต (Biliverdinuria) ซึ่งเป็นจุดเด่นจำเพาะของโรคนี้
4.   ตาอักเสบ
5.   โพรงจมูกอักเสบ
6.   หายใจลำบาก
7.   อาจชัก หรือเป็นอัมพาตตอนท้ายของลำตัว

การตรวจวินิจฉัย :
1.   จากประวัติและอาการที่ปรากฏตลอดจนปัสสาวะที่เป็นสีเขียวก็พอช่วยได้บ้าง
2.   ตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยวิธี Direct Complement Fixation (DCF), Latex Agglutnation (LA) หรือแยกเชื้อโดยตรง ฯลฯ
3.   ผ่าซากชันสูตรจะพบวิการที่เห็นด้วยตาเปล่าที่เป็นข้อวินิจฉัยสำคัญ คือ Hepatomegaly, Splenomegaly ผนัง Air Sacs หนาและขุ่น  และ Fibrinous endocarditis

การรักษา :
1.   Chlortetracycline ผสมอาหาร ขนาด 5000 ppm. กินติดต่อกันนาน 30 วัน
2.   Oxytetracycline ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 75-100 มก./กก.
3.   Doxycyline ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 100 มก./กก. ทุก 7 วัน
4.   ถ้านกไม่กินอาหารให้ใช้การรักษาประคับประคองเสริมไปตลอด


คำแนะนำ :
1.   นกในตระกูลนกแก้วทั้งหลายควรให้การป้องกันโรคนี้โดยใช้ Chlortetracycline ผสมอาหารขนาด 0.5 มก./อาหาร 1 กรัม กินติดต่อกัน 45 วัน
2.   ควรเลือกซื้อนกจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ฟาร์มนกที่มีคุณภาพ
3.   แยกนกที่มีอาการน่าสงสัยออกมาทำการตรวจและรักษา
4.   โรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์มาถึงคนและเป็นอันตราย ดังนั้นต้องแจ้งให้เจ้าของสัตว์ทราบและป้องกันเสียแต่เริ่มเลี้ยง
5.   โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ใช้เวลาพอสมควร




* Psittacine Beak and Feather Disease
อาจเรียกย่อ ๆ ว่า PBFD หรือโรคไวรัสปากและขนในนกแก้ว เดิมทีครั้งแรกพบว่าเกิดในนกกระตั้วก่อนจึงเรียกว่า Cockatoo Beak and Feather Disease หรือ CBFD แต่ต่อมาพบว่าเกิดได้กับนกทุกชนิดในตระกูลนกแก้ว (Psittacine) จึงเปลี่ยนเป็นชื่อดังที่ใช้ในปัจจุบัน

สาเหตุ :
เกิดจาเชื้อไวรัส คือ Diminuvirus ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่อยู่ในกลุ่ม Microvirus สามารถติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วผ่านทาง fecal-oral route

อาการ :
1.   ความผิดปกติของจงอยปาก และเล็บ คือ
   งอกยาวเร็วกว่าปกติ
   มีรอยร้าว เปราะ แตกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปาก
   ผิวมันกว่าเดิม
   จงอยปากที่หัก หรือเล็บอาจเกิดลักษณะแผลเรื้อรังจนถึงเนื้อตาย
   ปากบนและล่างบิดเบี้ยวสบกันไม่สนิท
2.   ความผิดปกติของขน คือ
   ขนหลุดร่วงบริเวณลำตัว หัว และปีกอย่างรวดเร็ว
   ขนใหม่เกิดขึ้นมายังไม่ทันจะสมบูรณ์เต็มเส้นก็หลุดร่วงออกไปโดยมีลักษณะคอดตรงโคนหรือ บิดเบี้ยว
   ขนอ่อนขึ้นประปรายโดยทั่วไป
   ในระยะท้าย ๆ มักไม่มีขนเหลือ

การตรวจวินิจฉัย :
1.   ใช้ลักษณะที่ปรากฏเป็นอาการเด่นชัดบริเวณจงอยปาก เล็บ และขน เป็นตัวบ่งชี้วินิจฉัย
2.   การตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของรากขนจะพบ intracytoplasmic inclusion bodies ใน macrophage และ epidermial cell
3.   การตรวจวินิจฉัยทางชีวโมเลกุล เช่น ใช้ PCR ตรวจหาเชื้อ

การรักษา :
ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ นกที่ป่วยด้วย PBFD จะตายโดยโรคแทรกซ้อนภายใน 2 ถึง 4 ปี การรักษาจึงเป็นเพียงป้องกันโรคแทรกและสร้างความแข็งแรงแก่นกเช่น ให้ยาปฏิชีวนะ วิตามินและฮอร์โมนช่วยเป็นระยะ ๆ


คำแนะนำ :
1.   ทำการฆ่าเชื้อกรงและสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งนกป่วยอาศัยอยู่ โดยการล้าง ขัดถู และฟอกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
2.   หากมีการเกิด PBFD ของนกที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ให้ยุติการขยายพันธุ์ อย่างน้อย 2 ปี ถึง 3 ปี และกำจัดตัวที่ป่วยออกไปจากโปรแกรมการขยายพันธุ์
3.   แยกนกป่วยไปให้ห่างไกลจากนกปกติ และมีการป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้อย่างเข้มงวด
4.   PBFD ยังรักษาไม่หาย




Sour Crop เป็นลักษณะการอักเสบ หรือเกิดแผลหลุดลอกของกระเพาะพักในนก มักพบบ่อยว่าเกิดกับลูกนก เช่น ลูกนกแก้ว ลูกนกแก้ว ลูกนกพิราบ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์

สาเหตุ :
1.   สาเหตุ  โน้มนำ ได้แก่
   อาการสกปรก บูดเน่า
   อาการลูกนกมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ
   อาหารเย็นซืด
   ขาดวิตามินและโปรตีน
2.   การติดเชื้อ ได้แก่
   เชื้อรา คือ Candida albicans มักพบว่าเกิดภายหลังการให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน การขาดวิตามินเอ และกินอาหารที่บูดเน่า ตลอดจนเลี้ยงดูลูกนกไม่ถูกสุขลักษณะ
   เชื้อโปรโตชัว คือ Trichomonas gallinae มักเกิดกับลูกนก และนกตระกูลนกเขา นกพิราบ ไม่ค่อยพบในตระกูลนกแก้ว มักจะติดต่อผ่านการกินน้ำร่วมกันกับนกป่วย ตลอดจนการป้อนอาหารจากแม่นกที่ป่วยไปยังลูกนก

อาการ :
1.   กระเพาะผัก (Crop) ขยายตัวบวม และอาจเป็นก้อนแข็ง
2.   นกจะขยอกอาหาร อาเจียน เอาเศษอาหารออกมามีลักษณะเหน็บบูด
3.   ท้องร่วง
4.   เบื่ออาหาร ไม่มีแรง ซึม
5.   เศษอาหารเลอะเทอะเปรอะเปื้อนบริเวณมุมปากแก้ม และคอ

การตรวจวินิจฉัย :
1.   ใช้ Gastric feeding meedle ดูดของเหลวจากกระเพาะพักมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อ Candida หรือ Trichomonas
2.   คลำบริเวณกระเพาะพักจะพบว่าขยายใหญ่และมีของเหลวหรือเศษอาหารบรรจุอยู่เต็ม

การรักษา :
1.   ในกรณีติดเชื้อ Candida ให้ Nystatin ขนาด 100,000 หน่วย/300 ก. น้ำหนักตัวให้กินวันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
2.   ให้สารลดกรดในกระเพาะ เช่น Sodium bicarbonate
3.   ให้สารน้ำและพลังงานชดเชยกรณีทีอาเจียนมาก
4.   ให้ยาสมานลำไส้กรณีที่มีท้องร่วง
5.   ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแทรก
6.   ในกรณีติดเชื้อ Trichomonas ให้ Metronidazole ขนาด 50-60 มก./กก./วัน ป้อนติดต่อกัน 5 ถึง 7 วัน หรือใช้ผสมน้ำ 66 มก./น้ำ 1 ลิตร ติดต่อกัน 5 ถึง 7 วัน
7.   ล้างกระเพาะพักอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดเศษอาหารที่หมักหมม และเจือจางปริมาณเชื้อลงจนหมดไป


คำแนะนำ :
1.   รักษาความสะอาดอาหาร และอุปกรณ์ในการเลี้ยงลูกนกให้ถูกสุขอนามัย
2.   ใช้อาหารที่เตรียมขึ้นใหม่ ๆ และมีอุณหภูมิเท่ากับร่างกายสัตว์
3.   หลังป้อนอาหารแล้วต้องทำความสะอาดภายในช่องปากทุกครั้ง
4.   นกที่แสดงอาการอาเจียน ให้ตรวจของเหลวที่อาเจียนหรือที่อยู่ในกระเพาะพักเสมอ
5.   อย่าให้นกเถื่อน เช่น นกพิราบเข้ารวมฝูงกับนกที่เลี้ยงไว้ หรือเข้ามากินน้ำร่วมกันเพราะอาจแพร่เชื้อ Trichomonas ฯลฯ





โรคชนิดต่างๆที่เกิดกับนก

โรคซิททาโคซิส (Psittacosis)

หรือที่เรียกว่า "โรคนกแก้ว" โรคนี้จะเริ่มแสดงกับนกให้เห็นชัดเจน คือ มีการเบื่ออาหาร ซึม ขนฟู ลูกตาไม่แจ่มใส ต่อมาจะมีอาการหวัด น้ำมูกไหล และท้องร่วง หากเป็นร้ายแรงสัตว์จะตายใน 3 – 4 วัน หลังจากเริ่มอาการ นอกจากนี้แล้วโรคนี้จะติดต่อถึงคนด้วย

การป้องกันรักษา ที่ได้ผลแน่นอนในเวลานี้นิยมใช้ Antibiotic เช่น ออริโอมัย-เทอร์มัยซิน หรือซัลฟา เมทราลิน วิธีการรักษาควรรักษาเป็นขั้น ๆ โดยเริ่มจากการแก้ท้องเสีย แล้วให้ยาเจริญอาหาร จากนั้นจึงมาใช้ Antibiotic ในบางกรณีเราต้องให้พวก Antibiotic ก่อน แล้วจึงแก้เรื่องท้องเสียก็ได้ อย่างไรก็ดี โรคนี้ปัจจุบันสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง มีการตรวจกักกันโรคนกที่นำเข้า จะมีก็เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น

โรคเชื้อรา(Asperggillosis)

โรคชนิดนี้เกิดจากเชื้อราชนิด Asperggillus อันเป็นชื้อราหรือ Fungi เล็ก ๆ จากสารวัตถุผุพังชนิดอื่น ๆ ลักษณะของเชื้อโรคนี้คล้ายเห็ดรา ปรากฏเป็นหย่อมๆอยู่ในหลอดลม นกที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการเชื่อง หงอย กินอาหารไม่ค่อยได้ มีขนพอง ระบบการหายขัด มีเสียงครืดคราดในลำคอคล้ายอาการของโรคหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบ นับเป็นโรคที่แพร่หลายติดต่อกันได้รวดเร็วทางน้ำ และร้ายแรงมาก อาจทำให้นกตายได้

การป้องกันรักษา ถ้านกเป็นในระยะเริ่มต้น หรือยังไม่พบเชื้อราอาจใช้วิธีบำบัดง่าย ๆ โดยหยด           กลีเซอรีน(Glycerrin) หรือทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture of Iodine) เล็กน้อยลงในน้ำดื่ม (2 – 3 หยด หรือ 5 – 6 หยด แล้วแต่ปริมาณของน้ำ) ทุกวันจนอาการนั้นหาย และโรครานี้มักจะเกิดจากเมล็ดข้าว อาหารที่หมักหมมสกปรก จึงควรระมัดระวังในคุณภาพและความสะอาดของข้าวนั้น ๆ ตามสมควร จะช่วยป้องกันโรคได้ระดับหนึ่ง

       โรคอหิวาต์(Fowl Cholera)

โรคอหิวาต์นี้ไม่ใช่เฉพาะจะเป็นกับเป็ดไก่เท่านั้น นกก็เป็นโรคนี้กันมากเหมือนกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกิดจากเชื้อพลาสเจอเรลล่า เอวิซิดา(Pasteurella avicida) เชื้อนี้มีอยู่ในอุจจาระของนกป่วย และระบาดติดต่อกันไปได้หลายทาง เช่น แมลงวัน เป็นตัวนำติดไปกับอาหาร น้ำ ติดไปกับภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลี้ยงดูนก ติดไปกับมือของผู้เลี้ยง

เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายของนกแล้ว จะแสดงอาการให้เห็นได้ภายใน 1 – 3 วัน โดยน้ำพิษ (Toxin) จากตัวเชื้อจุลินทรีย์จะเจริญตัวอยู่ในโลหิตของนกป่วย จะถูกนำไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยกระแสโลหิต ทำให้โลหิตภายในเกิดเป็นพิษ ถ้าเป็นอย่างชนิดร้ายแรงนกจะตายทันทีโดยไม่สังเกตเห็นอาการ

ส่วนในรายที่เป็นอย่างเรื้อรัง ระยะการเป็นโรคจะยาวกว่า อาการเด่นชัด ที่สังเกตเห็นได้จากนกป่วยที่เป็นโรคนี้ก็คือ อาการท้องเดิน อุจจาระเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลปนเขียว มีอุจจาระติดก้น ในปากและลำคอมีน้ำลายเหนียว หายใจหอบ ยืนหงอยซึม อุณหภูมิของร่างกายสูงมาก และตายในที่สุด

 การป้องกันรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กิน และต้องทำไปพร้อม ๆ กับการทำความสะอาดกรงนกและแยกนกป่วยออก สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ควรปรึกษาสัตว์แพทย์  

โรคฝีดาษ

โรคนี้เกิดขึ้นเนื่องจากยุงเป็นพาหะนำโรคมา คือถูกยุงกัด ลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นในขั้นแรกจะเป็นตุ่ม มักพบบริเวณตา จมูก และ ปาก ขา หรือบริเวณที่มีขนคลุมบาง ๆ ต่อมาตุ่มนั้นจะใหญ่ขึ้นเป็นไตแข็งและแตกออกในที่สุด

การป้องกันรักษา  เมื่อระยะเริ่มแรกของโรค นกจะมีอาการซึมไม่กินอาหาร ต่อมาจะมีตุ่มแถวเกิดขึ้นบริเวณหน้าและตา ฯลฯ ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงนกที่เป็นโรคนี้อาจหายไปเองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ส่วนในรายที่เป็นอย่างร้ายแรงมีตุ่มเกิดขึ้นในลำคอ นกนั้นจะแสดงอาการคอโก่ง เวลาที่พยายามกินน้ำหรืออาหาร จึงต้องเปิดปากออกดูว่าเป็นอาการของโรคฝีดาษหรือไม่ หรือว่าเกิดจากอะไรติดคอ จะได้รักษาได้ทันท่วงที การักษาปัจจุบันเราใช้วิธีง่าย ๆ คือ

·        ชนิดที่เป็นในปาก ใช้ปากคีบถอนเอาตุ่มนั้นออก แล้วใช้ออริโอมัยซินชนิดครีมป้ายที่แผล หรือจะใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีน 2 % แต้มแผลก็ได้

·        ชนิดที่ขึ้นบริเวณตา หน้า ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน 2 % แต้มหรือจะใช้ฟินนิซิลลินครีมป้ายกก็ได้เช่นกัน และมียาอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้ได้ผลดี แต่มีสีเปรอะเปื้อนเล็กน้อยคือยาสีม่วง การทาควรทาวันละ 2 หน เช้าและเย็น ไม่นานก็จะหายเป็นปกติ

และเมื่อปรากฏโรคนี้เกิดขึ้นก็จะติดต่อกันได้ง่าย จึงต้องรีบแยกออกจากคู่ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคควรปรึกษาสัตว์แพทย์

โรคหลอดลมอักเสบ(Bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบหรือโรคหืด หมายถึงการอักเสบของหลอดลม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศโดยรวดเร็ว กรงเลี้ยงชื้นแฉะสกปรก อากาศมีความชื้นมาก นกสูดเอาฝุ่นละอองเข้าไปมาก และยังเกิดขึ้นจากโรคติดต่อและโรคธรรมดาบางโรคด้วย เช่น โรคแอสเปอร์กิลโลซีส โรคหวัด ฯลฯ

ในระยะเริ่มแรกที่นกเริ่มเป็นโรคนี้นกจะยังคงกินอาหารได้ตามปกติ ไม่แสดงอาการผิดปกติอะไรให้เห็น เมื่ออาการของโรคทวีขึ้นนกจะเริ่มแสดงอาการซึมเหงา เบื่ออาหาร หายใจลำบาก และมีเสียงดังขณะหายใจและจามเสมอ ๆ บางตัวอ้าปากค้างมีอาการหอบ หางกระตุก มีอาการติดต่อกันเป็นพัก ๆ แต่ไม่รุนแรงเหมือนโรคปอดบวม

 การป้องกันรักษา รีบแยกนกนั้นออกให้ห่างจากนกอื่น ๆ โดยนำมารักษาในกรงพยาบาล ซึ่งมีอากาศอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใช้ยากลีเซอรีนหรือทิงเจอร์ไอโอดีนหยดลงในน้ำดื่มประมาณ 2 – 3 หยด (แล้วแต่ปริมาณน้ำ) จนกว่าอาการดังกล่าวจะหายเป็นปกติ หรือจะใช้วิธีรมหัวนกป่วยด้วยไอน้ำอุ่น ซึ่งได้หยดน้ำมันยูคาลิปตัสลงไปเล็กน้อย ในตอนเช้าหรือตอนกลางคืน และใช้น้ำมันแคมฟอเรเตทออยส์ (Camphorrated oil) ทาบริเวณคอเพื่อช่วยให้เกิดความอบอุ่นและหายใจสะดวกขึ้น

สำหรับน้ำที่ให้นกกินก็ควรผสมยาเอวิไมซิน(Avimycin)หรือ ออริโอมัยซิน ลงไปด้วย เพื่อให้นกได้กินยาจะช่วยให้อาการของนกคืนสู่สภาพปกติเร็วขึ้น สำหรับนกที่มีอาการหายใจหอบและเสียงครืดในลำคอ หากอาการน่าวิตกควรผสมยาในอัตราส่วนโดยประมาณ ดังนี้

·        กรดแอมโมเนียอย่างแรง  3  หยด

·        ทิงเจอร์ซึ่งสกัดได้จาก"ซีควิล" 3  หยด

·        กรดดินประสิวอย่างหวาน  3  หยด

ผสมลงในน้ำประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แล้วใช้หยอดลงในลำคอครั้งละ 5 หยด จนกว่าอาการจะดีขึ้น

โรคหวัดและหนาวสั่น

โรคหวัดของนกนั้นมีอาการเหมือนโรคหวัดของคนคือ มีอาการจามและมีน้ำมูกไหลออกมาทางรูจมูก หรือมีเสมหะเหนียวออกจากปากเมื่อไอหรือจาม

 การป้องกันรักษา รีบแยกนกป่วยออกไปไว้ในกรงพยาบาล อุณหภูมิของกรงพยาบาลควรให้มีความอบอุ่นสูงประมาณ 75 – 90 องศาฟาเรนไฮด์ (ใช้แสงไฟฟ้า 100 แรงเทียน อยู่ใต้พื้นกรงแหละใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เทอร์รามัยซิน ผสมลงในน้ำดื่มเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยให้อาการไข้หายได้

โรคปอดอักเสบ

โรคนี้เป็นที่มีมาคู่กับการเลี้ยงสัตว์ปีกแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สาเหตุของโรคนี้เกิดจากสถานที่เลี้ยงได้รับลมโกรกมากเกินไป หรืออากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวจนเกิดอาการเป็นหวัด เป็นหืด แล้วตามด้วยโรคปอดอักเสบ ที่มีอาการซึมไม่ร่าเริง ขนฟู จาม สำลัก หายใจฟืดฟาด หากไม่ได้รับการรักษาอาการโรคหวัดให้หายขาด

การป้องกันรักษา ให้รับแยกนกป่วยออกมาขังไว้ในกรงพยาบาล เอาผ้าคลุมกรงไว้เว้นช่องระบายอากาศไว้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้นกได้รับความอบอุ่น ถ้าอุณภูมิภายในกรงยังอบอุ่นไม่พอก็ให้ใช้หลอดไฟฟ้าขนาด 5 – 10 แรงเทียน เปิดเป็นช่วง ๆ หากนกยังพอกินน้ำได้ การรักษาก็ใช้ยาปฏิชีวนะที่ใข้รักษานกทั่วไปที่มีขายตามร้านขายยาสัตว์ หรือไม่ก็ให้ปรึกษาสัตว์แพทย์      

โรคเก๊าหรือข้อบวม(Gout)

โรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน เชน นกเป็นโรคเกี่ยวกับไต นกกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป หรือกินอาหารทีมีไขมันมากๆ นกกินอาหารไม่ถูกส่วน ขาดไวตามินและขาดการออกกำลังกาย โดยทั่ว ๆ ไปมักจะเป็นกับนกที่มีอายุมากกว่านกทีมีอายุน้อย นกที่ป่วยเป็นโรคนี้จะแสดงอาการข้อขาและข้อเท้าค่อย ๆ บวมขึ้น นกรู้สึกเจ็บปวด สุขภาพเลวลง  และอาจมีอาการท้องร่วงเรื้อรังเล็กน้อยด้วย ถ้านกตายแล้วทำการผ่าซากดูไตจะบวมกว่าธรรมดาเล็กน้อย

การป้องกันรักษา ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนอ่อน ๆ ทาตามข้อที่บวมบาง ๆ วันละ 1 ครั้ง ย้ายนกไปในกรงกว้าง ๆ เพื่อให้ได้บินออกกำลังมาก ๆ ให้อาหารพวกพืชสดสีเขียว ใช้น้ำต้มผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตเล็กน้อยให้กินจะช่วยป้องกันให้หายได้ในเวลาไม่นานนัก

โรคท้องผูก(Constipation)

โรคท้องผูกเป็นโรคที่นับว่าสำคัญมากโรคหนึ่งของนกเลี้ยงขังกรงทั่ว ๆ ไป สาเหตุของโรคนี้เกิดจากนกได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารไม่เหมาะสม เช่น ให้อาหารหยาบแห้งเกินไป อาหารไม่มีพวกพืชสดสีเขียว ให้น้ำนกไม่เพียงพอแก่ความต้องการ การขาดการออกกำลังกาย เลี้ยงนกไว้ในกรงที่คับแคบเกินไป ไม่มีที่กระโดดโลดเต้นโผบินได้ เกิดการอุดตันขึ้นในลำไส้ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารผิดปกติ และนอกจากนี้ยังจะเกิดขึ้นจากโรคบางโรคได้

สำหรับอาการที่สังเกตเห็นได้ก็คือ นกจะถ่ายอุจจาระเป็นไปด้วยความยากลำบาก อุจาระจะออกมาเพียงเล็กน้อยและเป็นก้อนแข็ง ถ้าเป็นอยู่นานวันนกจะเหงาซึม ค่อย ๆ เบื่ออาหารลงเรื่อย ๆ

การป้องกันรักษา ควรทำดังนี้

·        หยดน้ำมันโอลีฟ หรือน้ำมันพาราฟิน หยดใส่ปากนกครั้งละ 1 – 2 หยด จนกว่าอาการจะเข้าขั้นปกติ

·        น้ำต้องจัดตั้งไว้ให้กินตลอดเวลา และในน้ำก็ให้เติมโซดาซัลเฟตลงไปเล็กน้อย

·        ให้อาหารพวกพืชสดสีเขียวให้กิน

·        ถ้าจำเป็นต้องสวนทวารให้ ก็ควรใช้น้ำสบู่อุ่น ๆ หรือจะใช้กลีเซอรีนก็ได้ เพื่อช่วยให้ก้อนแข็งของอุจจาระที่อุดปิดอยู่นั้นอ่อนเหลวลื่นเสียก่อน

โรคท้องร่วง

โรคนี้โดยทั่วไปมักจะเกิดจากการถ่ายของนกป่า ซึ่งอาจบินผ่านหรือชอบมาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ กรงนกเลี้ยง แล้วถ่ายอุจจาระซึ่งมีเชื้อนั้นทิ้งไว้บนพื้นกรง ในน้ำดื่มเกิดการติดเชื้อ นกที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายออกเป็นน้ำใส ๆ และมีอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง

การป้องกันรักษา ถ้าสงสัยหรือเห็นได้ชัดเจนจากอาการดังกล่าวแล้ว ควรใช้ยาซัลฟาเมชีนโดยหาซื้อและขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้จากร้านสัตว์แพทย์โดยทั่วไป สำหรับยาชนิดอื่นที่เป็นยาปฏิชีวนะ เช่น พวกเทอร์รามัยซินก็สามารถใช้ได้ โดยผสมลงในน้ำเพียงเล็กน้อย เพื่อให้นกดื่มกินรักษาป้องกันได้ผลดีเช่นกัน

โรคเครื่องย่อยอาหารพิการ

หากไม่พบว่ากระเพาะเก็บอาหารมีลักษณะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการถูกกระทบกระแทก ก็อาจเชื่อได้ว่าอาจเป็นเพราะเครื่องย่อยอาหารพิการ โดยนกจิกกินอาหารได้เพียงครู่เดียวก็หยุด หรือไม่ก็จิกคุ้ยอาหารทิ้งแล้วหยุดเช็ดถูจะงอยปาก มีอาการขนพอง กินอาหารได้น้อย

การป้องกันรักษา ให้ลดปริมาณอาหารให้น้อยลง ใช้พาราฟินอย่างเหลวผสมลงในอาหารเล็กน้อยให้กิน สำหรับทราย ซึ่งจะช่วยย่อยอาหารนั้นควรเพิ่มให้ที่ละน้อย เมื่อนกมีอาการดีแล้ว และต่อไปควรป้องกันระวังไว้อย่าให้ทรายผสมขาดได้ ต้องให้สม่ำเสมอ เพราะนกทุกชนิดต้องกินทรายหรือกรวดเม็ดเล็ก ๆ เพื่อใช้ในการบดย่อยอาหารให้ดีอยู่เสมอ


พอดีไปเจอมาครับเลยเอามาฝาก เผื่อจะเป็นประโยชน์ แก่ทุกท่านที่เลี้ยงนกครับ
[color=660000]สักวันฝันต้องเป็นจริง อยากเลี้ยงนกที่ชอบเยอะๆจังเลย[/color]

SoSoChaneL

ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลเป็นประโยชน์ดีครับ

จากที่เห็น ได้นกมา 2 วัน เกรย์ ของผม ดูเหมือนจะเป็นChlamydiosis

อึ ออกมามีน้ำเยอะมากเลย สีเขียวอ่อนๆ ไม่ค่อยกินข้าว

ยืนอยู่เฉยๆไม่เล่นอะไรเลย ไม่รู้ว่า ยังไม่ชินกับที่ หรือเป็นChlamydiosis ครับ

ถ้าไม่มีใครไปยุ่งกับเขา เขาจะเกาะนิ่งๆมองไปมา เฉยๆ

ทำไงดีครับ จับตัวเขาก็ไม่ได้ ดุมากเลย
ในที่สุดความหวังแรก ไข่คิมสันมันจะออกมาไหม   :-D  :-D
E-mail : bombber_man14791@hotmail.com. MSN คุยกันครับ