หลายๆคนอาจเลี้ยงนกไว้ในห้องพัก อพาร์ทเมนต์ หรือ คอนโดที่มีการระบายอากาศไม่ดี และอาจมีการทำอาหารในห้องทราบหรือไม่ว่า กระทะเทฟลอนที่นิยมใช้กันทั่วไปในครัวเรือนนั้น สามารถทำให้เกิดอันตรายกับนกถึงแก่ชีวิตได้ หากใช้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมมาะสม
เทฟลอนคือ Polytetrafluoroethylene(PTFE) ซึ่งมีคุณสมบัติ
- เมื่อเคลือบบนพื้นผิวจะไม่ทำให้น้ำ หรือ น้ำมันเกาะติด
- ไม่ละลายในตัวทำละลายใดๆ
- หลอมที่อุณหภูมิ 342 องศา
- ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และ การ oxidize
- ทนต่อแสง UV และมีความฝืดต่ำ
แต่เมื่อเทฟลอนโดนความร้อนสูงๆจะทำให้ สารประกอบทางเคมีที่จับตัวกันอยู่ในเทฟลอนเกิดแตกตัวและระเหยออกมากับอากาศ เกิดเป็นสารพิษและไปจับกับระบบทางเดินหายใจของนก ซึ่งนกเป็นสัตว์ที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซในระดับสูงเพราะต้องมีการขนส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการบิน เมื่อนกได้รับสารพิษจากเทฟลอนเข้าไป ก็จะลำเลียงสารพิษไปพร้อมกับออกซิเจนด้วยทำให้สารพิษถูกส่งไปทั่วร่างกาย ยิ่งในนกที่มีขนาดเล็กที่มี metabolic rate สูงจะยิ่งเป็นเกิดความเป็นพิษได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในการเกิดพิษของเทฟลอนได้แก่ อุณหภูมิที่ประกอบอาหาร,สภาพของกระทะเทฟลอน,การระบายอากาศ และสุขภาพของนกเป็นต้น
อุณหภูมิของกระทะเทฟลอนที่ทำให้เกิดพิษกับนก
ในการประกอบอาหารปกติที่มีความร้อนคงที่และไม่เกิดการไหม้ของกระทะจะปลอดภัย แต่หากอุณหภูมิสูงเกินกว่า 536°F (280°C) จะเริ่มมีการปล่อยสารพิษออกมากับควันที่ประกอบอาหารซึ่งก่ออันตรายให้กับมนุษย์ด้วย แต่จะไม่รุนแรงเท่านกตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่า อุณหภูมิ 280°C เป็นอุณหภูมิที่สูงมาก และเกิดขึ้นได้ยากในการทำอาหารปกติหากไม่เกิดการไหม้ของกระทะ
อาการของนกที่ได้รับสารพิษจากเทฟลอน
นกอาจแสดงอาการหายใจลำบาก หอบ หายใจมีเสียง อ่อนแอ ซึม ไม่อยากอาหาร อาจมีอาการชัก หรือตายแบบเฉียบพลันในนกที่มีขนาดเล็ก
การป้องกัน
- หากพบว่ากระทะเทฟลอนที่ใช้ หยด หรือ ละลาย ควรทิ้งทันที
- ไม่ต้มน้ำในกระทะเทฟลอน
- ไม่ทิ้งกระทะเทฟลอนที่กำลังประกอบอาหารไปที่อื่น
- ใช้ไฟขนาดต่ำ หรือ กลาง ในการใช้กระทะเทฟลอน
- ไม่ปล่อยให้คนอื่นใช้กระทะเทฟลอนประกอบอาหารในบ้านของคุณจนกว่าจะอธิบายให้เข้าใจถึงพิษของเทฟลอน
- ควรมีการระบายอากาศที่ดีในห้องครัว
- ทางที่ดีที่สุด ไม่ควรให้นกอยู่ในครัว
นอกจากนี้พวกควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การประกอบอาหาร น้ำหอม สเปรย์ฉีดผม และ สเปรย์ปรับอากาศ รวมไปถึง ยาฉีดฆ่าแมลง และ สารเคมีต่างๆ เช่น น้ำยาล้างเล็บ และ ทินเนอร์ยังสามารถก่ออันตรายต่อนกจนถึงแก่ชีวิตได้หากมีการกิน หรือ สูดดมไอระเหยเข้าไป
หวังว่าบทความของผมคงมีประโยชน์กับสมาชิกไม่มากก็น้อยนะครับ หากผิดพลาดตรงไหนก็ขออภัยด้วย จะพยายามหาสาระเกี่ยวกับอันตรายใกล้ตัว และ กลุ่มอาการต่างๆในนกปากขอและการรักษามาฝากกันเรื่อยๆครับ