Main Menu
Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Messages - Pon

#1
ขณะนี้ร่างหนังสือฉบับดังกล่าวได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอผลการเจรจาจากผู้ใหญ่บางสมาคมฯ อยู่

ทีนี้ เราก็ต้องรวมพลังกันแล้ว ท่านใดที่ประสงค์จะเข้าชื่อเพื่อชี้แจงผลกระทบ และเสนอแก้ไขร่างพรบ. ฉบับนี้ กรุณาส่ง e-mail มายัง sompon_fp@hotmail.com ผมจะส่งแบบฟอร์มไปให้

ก็หวังว่าทุก ๆ ท่านจะให้ความร่วมมือให้มากที่สุด และด่วนที่สุด เพื่อส่วนรวมครับ
#2
ก่อนอื่นขอตอบคุณชายตันก่อน เนื่องจากเมื่อวานคุณชายตันโทรมาคุยกับผม และแนะนำให้เล่าที่มาที่ไปให้ทุกท่านทราบ ก็ต้องขอขอบคุณที่แนะนำ

ก่อนหน้านี้มีหลายท่านที่ทราบเรื่องนี้จากกระทู้ โทรมาสอบถามและพูดคุยกัน ผมก็เล่าสถานการณ์และข้อมูลที่ทราบให้ฟัง ก็หลายต่อหลายท่านครับ

เรื่องราวทั้งหมดผมก็เพิ่งทราบเมื่อวันพุธที่ 28 จากการโทรมาของกลุ่มชมรม ผู้เพราะเลี้ยงนกฯ ว่าจะมีการเสนอร่างพรบ. นี้ที่กรมป่าไม้ฯ แต่เนื่องจากวันนั้นผมติดงานที่ต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ก็มีตัวแทนของชมรมฯ ไปเข้าร่วม 4 ท่าน และหลังจากนั้นผมก็ทราบเรื่องจากการเล่าของตัวแทนทั้ง 4 ท่าน และได้คุยกันว่าน่าจะรีบดำเนินการนัดประชุมโดยก็รีบติดต่อและนัดกันได้ในวันศุกร์ที่ 30 และหลังจากพูดคุยสรุปเรื่องราวทั้งหมด ทางชมรมฯ ก็มีมติให้รีบกระจายข้อมูลเหล่านี้ให้กับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง และนัดกันอีกครั้งวันพุธที่ 4 เพื่อสรุปแนวทาง หลังจากนั้นผมก็รีบสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความไม่รอช้า เพื่อตรวจสอบว่าความเป็นมาต่าง ๆ ของเรื่องนี้เป็นมาอย่างที่เราเข้าใจหรือไม่ ? อย่างไร ?

ก็ได้ความว่าร่างพรบ. นี้เริ่มเมื่อปี 2546 โดยรัฐบาลของทักษิณ ซึ่งหวังดีหวังร้ายไม่ทราบ แต่ต้องการให้มีการแก้ไขพรบ. ปี 2535 (ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน) เพราะจะมีการประชุม CITES กันเมื่อสมัยโน้น และทาง CITES ก็โจมตีพรบ. ป่าไม้ของไทยว่าไม่ครอบคลุมการครอบครองและการค้าสัตว์ต่างประเทศ ก็เลยได้ให้อาจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ร่างพรบ. นี้ ซึ่งหลังจากได้ร่างก็มีการทำประชาพิจารณ์หลายต่อหลายครั้งก็ไม่ผ่าน เพราะมีการออกมาค้านของกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ มากมายถึงข้อบกพร่อง และความไม่ชอบของร่างพรบ. ใหม่นี้ และได้มีการเสนอข้อแก้ไขมาก็หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ก็นำขึ้นมาเพื่อเสนออีกครั้ง ทางเราถึงได้มาทราบว่ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจไม่ว่าใครจะเลี้ยงนกกี่ตัวก็ไม่สำคัญแต่นี่หมายความถึงความเดือดร้อนของคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ถูกต้อง แต่จะกลับกลายเป็นการเลี้ยงสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายไป

ขณะนี้ทางชมรมฯ มีมิติจะทำหนังสือ และประสานงานกับชมรมฯ สมาคมฯ อื่น ๆ รวมถึงประชาชนคนเลี้ยงสัตว์ที่จะได้รับผลกระทบ (โดยเฉพาะนก) เพื่อรวบรวมรายชื่อ และผลกระทบ รวมถึงแนวทางที่จะเสนอแก้ไข เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ผมได้รับมอบหมายให้ร่างหนังสือฉบับดังกล่าว ก็ได้พยายามหาข้อมูล และประสานงานผู้รู้หลาย ๆ ท่าน และดำเนินการหลาย ๆ อย่างอยู่ เพราะรู้ดีว่าขนาดกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ซึ่งมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า และมีนักกฎหมายที่เก่ง ๆ มากมายได้เสนอแนวทางแก้ไข ก็ยังไม่สำเร็จ ฉะนั้นเราจะต้องตีโจทย์นี้ให้ถ่องแท้จริง ๆ ว่าจะเสนอแนวทางอย่างไรให้ภาครัฐเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของภาคประชาชนตาดำ ๆ อย่างเราที่จะได้รับความเดือดร้อนหากร่างพรบ. เป็นเช่นนี้ (งานใหญ่จริง ๆ)

ก็หวังว่าทุก ๆ ท่านจะให้ความเข้าใจ และให้ความร่วมมือให้มากที่สุด เพื่อส่วนรวมครับ
#3
มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ เพราะเมื่อวันพุธที่แล้วผู้ใหญ่ที่ไปประชุมกับทางที่เสนอร่าง พรบ. ที่กรมป่าไม้ ได้แจ้งให้ผมทราบว่า เขาจะพยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนครับ

ตอนนี้หลาย ๆ ภาคส่วนที่ทราบเรื่อง ก็เริ่มดำเนินการบางอย่างบ้างแล้วครับ ตัวอย่างเช่น ชมรมผู้เพาะเลี้ยงนกสวยงามสายพันธุ์ต่างประเทศ (ประเทศไทย) หลังจากได้มีการกระจายข่าวกันแล้ว ก็จะประชุมกันในวันพุธที่ 4 มิถุนายน ที่ร้านอาหารเรืองฤทธิ์ซีฟู้ด ถนนบรมราชชนนี-ตลิ่งชัน เวลา 19.00 น. ท่านใดสนใจต้องการทราบเรื่องทั้งหมด และสัมผัสถึงบรรยากาศอันแท้จริง ก็เชิญร่วมได้นะครับ

พล
#4
คุณรู้หรือไม่ ?

- อนาคต หากคุณมีนกสายพันธุ์ต่างประเทศ, ปลาสวยงามต่างประเทศ หรือสัตว์อื่นใดที่อยู่ในอนุสัญญา CITES (ไม่ว่าจะเป็นหมวดใดก็แล้วแต่) อาจมีความผิดเทียบเท่าการมีสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง
- หากคุณพานกของคุณ หรือสัตว์เลี้ยงของคุณไปไหนมาไหน คุณอาจถูกจับได้


เนื่องจากผมได้ทราบมาถึง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2546 ที่กำลังจะมีการเสนอเข้าสภาในเร็ว ๆ นี้ มีใจความที่มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเราทุกคนที่เลี้ยงสัตว์ทั้งที่เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว
และเชิงพาณิชย์ก็ตาม ผมจึงได้คัดออกมาเฉพาะที่น่าจะเกี่ยวข้อง ดังนี้

มาตรา 4 คำนิยาม
"สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ" หมายความว่าสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือให้สัตยาบัน

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

มาตรา 6 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ มีดังต่อไปนี้
(1) สัตว์ป่าสงวน
(2) สัตว์ป่าคุ้มครอง
(3) สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
(4) สัตว์ป่าควบคุม
(5) สัตว์ป่าอื่นที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือบริเวณและสถานที่คุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า

มาตรา 8 การมีไว้ครอบครอง นำเข้า ส่งออก นำผ่าน ประกอบธุรกิจเพาะพันธุ์ หรือค้าซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และสัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยได้รับอนุญาตตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ฯ

มาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า มีไว้ ครอบครอง เพาะพันธุ์เพื่อการค้า นำผ่าน หรือนำเคลื่อนที่ภายในประเทศซึ่งสัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือสัตว์ป่าชนิดใดที่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นสัตว์ป่าควบคุม ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน หรือกานำเข้ามาจะก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืช สภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ หรือก่อให้กิดผลกระทบต่อการคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศหรือพันธุกรรมของสัตว์ป่าดังกล่าว ฯ

มาตรา 14 ผู้ใดมีไว้ในครองครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 7 วรรคสาม สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือซากสัตว์ของสัตว์ป่าดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต และการจัดทำทะเบียนควบคุม การครอบครอบสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 19 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือนำเคลื่อนที่ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 7 วรรคสาม สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สัตวป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต และแบบของใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 24 ภายใต้บังคับมาตรา 9 ผู้ใดประกอบธุรกิจเพาะพันธุ์ สัตว์ป่าตามมาตรา 7 วรรคสาม สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สัตว์ป่าควบคุม จะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาต และชนิดของสัตว์ป่าตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา 26 ผู้ใดค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
หลักเกณฑ์ และวิธีการขออนุญาต เงื่อนไข การขออนุญาต อายุของใบอนุญาตและชนิดของสัตว์ป่าที่อนุญาตให้ค้าได้ ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ

มาตรา 83 ในกรณีที่บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ นอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะต้องเสียค่าเบี้ยงเลี้ยงให้แก่
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ไปปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าอัตราของทางราชการ และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามความจำเป็นในการปฏิบัติงาน
การยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยงเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ฯลฯ

บทกำหนดโทษ

มาตรา 92 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีแต่ไม่เกินเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทแต่ไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
การกระทำตามวรรคหนึ่ง หากผู้ใดปล่อยสัตว์ป่านั้นเข้าสู่สภาพธรรมชาติหรือสถานที่ใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี แต่ไม่เกินสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทแต่ไม่เกินสามแสนบาท

มาตรา 96 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 หรือมาตรา 18 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 19 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฯลฯ

บทเฉพาะกาล

มาตรา 109 ผู้ใดครอบครองสัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุมอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ครอบครองสัตว์ป่าดังกล่าวได้ต่อไป แต่ให้ดำเนินการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เพื่อให้ทราบถึงจำนวนที่ครอบครอง และรูปพรรณของสัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือสัตว์ป่าควบคุมที่ครอบครองอยู่ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกไว้และออกหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้แจ้ง และให้ถือหลักฐานการแจ้งนั้นเป็นหลักฐานการอนุญาตให้ครอบครองได้ตามพระราชบัญญัตินี้

ฯลฯ

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

2. ใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ฉบับละ 10,000 บาท
4. ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ฉบับละ 10,000 บาท
5. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพาะพันธุ์ ฉบับละ 50,000 บาท
7. ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ฉบับละ 10,000 บาท
9. ใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าเคลื่อนที่เพื่อการค้า ฉบับละ 1,000 บาท
13. การต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละครึ่งเท่าของใบอนุญาต
14. การจัดทำเครื่องหมายหรือหลักฐานแสดงประจำตัวสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จัดทำให้ ตัวละหรือชิ้นละ 1,000 บาท

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยแพร่ข้อมูลนี้ให้กับทุกคน ทุกวงการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากจะดีรบกวนเสนอแนะ และระดมความคิดเห็นกันเร็วเข้า ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

หากท่านใดประสงค์จะได้ข้อมูลเพิ่มเติม และประสงค์จะทำเพื่อส่วนรวม
ติดต่อได้ที่
พล
081-8219266