ไซเตส ......จริงๆหรือครับ

เริ่มโดย C_tan, มิถุนายน 05, 2008, 08:44:19 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

C_tan

สัตว์ปีกเพื่อการอนุรักษ์ (E-Learning โดย ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย)
ไซเตสกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า (มาตราที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติ)
1
บทนำ

ไซเตส มาจากภาษาอังกฤษว่า CITES ซึ่งเป็นชื่อย่อของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์ มีชื่อเต็มว่า "Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora" เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการค้าพืชป่าและสัตว์ป่า เพื่อมิให้พืชป่าและสัตว์ป่านั้น ๆ สูญพันธุ์ไปจากโลก


อนุสัญญาฉบับนี้ เริ่มมาจากความคิดที่จะควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศเพราะวิตกว่าหากมีการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ากันอย่างมากมายในหลายประเทศของโลกโดยขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจะเป็นเหตุให้พืชป่าและสัตว์ป่าหลายชนิดจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีมาตรการอะไรมาป้องกันก็มีแนวโน้มว่าพืชป่าและสัตว์ป่าเหล่านั้นจะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างแน่นอน

จึงน่าจะมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อควบคุมดูแลการค้าพืชป่าและสัตว์ป่าเหล่านั้น ไซเตสมุ่งสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าพืชป่าและสัตว์ป่าระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ


ความคิดและปัญหาดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกนำมาปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นครั้งแรกในปี 2503 ในการประชุมทั่วไปครั้งที่ 7 ของสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งในองค์การสหประชาชาติมีชื่อย่อว่า IUCN มีชื่อเต็มว่า " International Union for Conservation of Nature and Natural Resources"


นภดล (2537) ได้สรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดจนมาตรการที่สำคัญต่าง ๆ ของไซเตสไว้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2506 IUCN ได้มีมติเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติ โดยเสนอให้มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการส่งออก นำเข้าและการนำผ่านประเทศของสัตว์ป่าและพืชป่าที่หายากหรือใกล้จะสูญพันธุ์ รวมทั้งหนังและซากของสัตว์ป่าเหล่านั้นด้วย จากนั้นก็มีการประชุมกันมาตลอดจนกระทั่งวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 การประชุมใหญ่ได้จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกาได้มี 21 ประเทศลงนามรับรองอนุสัญญานี้ ดังนั้น นอกจากจะเรียกอนุสัญญานี้สั้น ๆ ว่า "ไซเตส" แล้ว บางแห่งยังเรียกว่า "อนุสัญญาวอชิงตัน" (Washington convention) อีกด้วย


วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 องค์กร United Nation Environment Programme ซึ่งมีชื่อย่อว่า UNEP ได้จัดตั้งคณะเลขาธิการไซเตสขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การทำงานของ IUCN ต่อมาได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการไซเตสถาวรขึ้น ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสำนักงานของไซเตสในปัจจุบัน


ปัจจุบัน ไซเตสมีประเทศที่เป็นสมาชิกที่เรียกว่าประเทศภาคีทั้งสิ้น 115 ประเทศ ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมและรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2518 และได้ให้สัตยาบันในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นสมาชิกอันดับที่ 78

C_tan

สาระสำคัญของอนุสัญญา

1. ไซเตสควบคุมการค้าพืชและสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของระบบใบอนุญาตและใบรับรอง โดยออกให้เมื่อมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้และต้องแสดงใบอนุญาตและใบรับรองเมื่อสินค้าอันประกอบด้วยพืชและสัตว์ป่าออกเดินทางจากประเทศต้นทางหรือเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง

2. ประเทศภาคีแต่ละประเทศต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการขึ้นหนึ่งคนหรือมากกว่า เพื่อรับผิดชอบการออกใบอนุญาตและใบรับรองดังกล่าว โดยหน่วยงานนี้จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้หนึ่งคนหรือมากกว่า

3. พืชและสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ได้ถูกจำแนกออกเป็น 3 บัญชี (ดูรายละเอียดบัญชีรายชื่อท้ายบท) ตามข้อกำหนดที่แตกต่างกันเพื่อการควบคุม ดังนี้ (ทิพยรัตน์, 2545)

3.1. บัญชีหมายเลข 1 (appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายใกล้จะสูญพันธุ์ จึงห้ามทำการค้าเด็ดขาด ยกเว้นบางชนิดที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและเพาะพันธุ์ทางวิชาการ ซึ่งกระทำได้โดยสถาบันที่เชื่อถือได้และจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศที่ส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

3.2. บัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 (appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์และยังมีปริมาณมากในธรรมชาติ แต่อาจจะเป็นชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ถ้าไม่มีการควบคุมการค้าอย่างเข้มงวด ชนิดพันธุ์ในบัญชีนี้อนุญาตให้ทำการค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายหรือลดจำนวนของชนิดพันธุ์นั้น ๆ อย่างรวดเร็ว โดยประเทศผู้ส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตเพื่อการส่งออก และรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำรงชีวิตของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

3.3. บัญชีแนบท้ายหมายเลข 3 (appendix III) เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วประเทศนั้น ๆ ได้ประกาศเป็นชนิดพันธุ์หวงห้าม หรือคุ้มครองเฉพาะภายในประเทศของตน และต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ให้ช่วยดูแล หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการค้าพืชและสัตว์ป่าเหล่านั้น จึงเป็นภาระของสมาชิกอื่น ๆ ที่จะต้องให้ความร่วมมือดูแลการนำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกจากประเทศนั้น ๆ การส่งออกจะต้องได้รับอนุญาตและมีหนังสือรับรองเพื่อการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด

4. ไซเตสมีข้อยกเว้นต่าง ๆ สำหรับข้อกำหนดที่มีขึ้นเกี่ยวกับการขนส่งและการขนถ่ายเพื่อส่งต่อพืชและสัตว์ป่าที่ได้มาก่อนที่อนุสัญญาจะมีผลบังคับใช้ พืชและสัตว์ป่าซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวและเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน สัตว์ป่าที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง การแลกเปลี่ยนพืชและสัตว์ป่าระหว่างนักวิทยาศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์รวมทั้งการจัดแสดงพืชและสัตว์ป่าที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในที่ต่าง ๆ

5. เพื่อให้บรรลุผลของอนุสัญญา เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการต้องเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบใบอนุญาตส่งออกสำหรับชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 และต้องเป็นผู้แนะนำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการในเรื่องมาตรการที่เหมาะสมต่าง ๆ เพื่อรักษาจำนวนพืชและสัตว์ป่าทั่วทั้งแหล่งอาศัยในธรรมชาติให้อยู่ในจำนวนคงที่ และคงบทบาทในระบบนิเวศที่ชนิดพันธุ์นั้นอาศัยอยู่ และให้มีจำนวนมากพอที่จะไม่เปลี่ยนสถานภาพเข้าไปอยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 1

6. สถิติข้อมูลการค้า ต้องมีการบันทึกและเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยแต่ละประเทศสมาชิก และต้องส่งรายงานให้เลขาธิการไซเตสปีละครั้งทุกปี ซึ่งรายงานประจำปีของประเทศภาคีนี้เมื่อรวมกัน แล้วจะให้ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับจำนวนพืชและสัตว์ป่าทั้งหมดที่มีการค้าทั่วโลก ซึ่งข้อมูลนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของพืชและสัตว์ป่า และเมื่อเปรียบเทียบรายงานการส่งออกและนำเข้าทั้งหมดก็จะส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาของประเทศสมาชิกว่ามีมากน้อยเพียงใด

7. ยังมีหลายประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของไซเตส จึงกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกเรียกร้องเอกสารจากประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกที่มีเนื้อหาตรงกับข้อกำหนดของไซเตสด้วย

C_tan

ระบบการควบคุมการส่งออกและนำเข้า

การส่งออกและนำเข้าซึ่งชนิดพืชและสัตว์ป่าตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ จะถูกควบคุมโดยสำนักงานเลขาธิการ ซึ่งมีศูนย์บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลการนำเข้า และส่งออกชนิดพืชและสัตว์ป่าระหว่างประเทศภาคี มีชื่อย่อว่า TRAFFIC มีชื่อเต็มว่า Trade Records Analysis of Flora and Fauna in Commerce หรือเรียกว่า WTMU มีชื่อเต็มว่า Wildlife Trade Monitoring Unit หากมีข้อสงสัยทางไซเตสจะติดต่อกับคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการของประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้า


การขออนุญาตส่งออกและนำเข้า ผู้ส่งออกต้องนำสินค้าให้คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการของประเทศตนตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาต ซึ่งคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการจะประสานงานกับคณะทำงานฝ่ายวิชาการเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำแล้วจึงดำเนินการออกใบอนุญาตให้ผู้ส่งออก เพื่อแสดงต่อด่านศุลกากรขาออกและส่งต่อไปยังด่านศุลกากรขาเข้าและผ่านไปยังคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการของประเทศผู้นำเข้า เพื่อออกใบอนุญาตให้นำเข้าแก่ผู้นำเข้าต่อไป

ด.ช.หาด

ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ครับพี่ชาย  8-)  8-)
หนึ่งในสมาชิก แก๊งค์ "จู้ฮุกกรู"